วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ผลข้างเคียงของยาแก้ปวด



ก่อนที่คุณจะหยิบยาแก้ปวดมาทาน คุณควรจะรู้ว่ายาแก้ปวดตามท้องตลาดมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้างนะคะ


- การทานยาแก้ปวดที่มีสาร acetaminophen เช่น Tylenol ในปริมาณมากอาจจะทำให้ตับเสื่อมได้ ดังนั้น คนที่มีโรคตับอยู่แล้วควรจะระวังและ หลีกเลี่ยงการรัยประทานยาที่มีสารนี้ในปริมาณมาก


- การทานยาแก้ปวดกลุ่ม Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs) เช่น Ponstan, Aspirin และ Ibuprofen เป็นประจำ อาจจะกัดกระเพาะ ก่อให้เกิดแผลในระบบทางเดินอาหารและ อาการปวดท้อง มากกว่านั้น การทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้ไตเสื่อมได้


- NSAIDs ยังสามารถทำให้ความดันสูงขึ้น และอาจจะเกิดปฏิกิริยากับยาลดความดัน

สุขภาพของชายสูงวัยและการรักษาด้วยฮอร์โมน



เพศชายในวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะพบว่าฮอร์โมนเพศชายซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญ ผลิตจากลูกอัณฑะ เริ่มปริมาณลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะลูกอัณฑะเริ่มเสื่อมหน้าที่ในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศชาย การเสื่อมหน้าที่จะค่อยเป็นค่อยไปตามอายุที่มากขึ้น นอกจากลูกอัณฑะจะสร้างฮอร์โมนเพศชายแล้วยังมีต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า ดีไฮโดรอิพิแอนโตรสเตอโรน (Dehydroepiandrosterone) เรียกย่อ ๆ ว่า ดีเอช อี เอ (DHEA) ซึ่งจะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้นเช่นกัน

การที่ฮอร์โมนเพศชายลดลงช้า ๆ อาจทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้ ดังนี้:

1) อาการทางระบบประสาทและจิตใจ: มีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย ขาดความคิดริเริ่ม ขาดความเชื่อมั่นตนเอง นอนไม่หลับ ร้อนวูบวาบตามร่างกาย เหงื่อออกมาก อาการหงุดหงิด โมโหง่าย ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ทั้งปัญหาครอบครัว หน้าที่การงาน

2) ระบบหัวใจและหลอดเลือด: ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด พบได้บ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะในชายที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่ เป็นเบาหวานอยู่แล้ว อ้วน ขาดการออกกำลังกาย ไขมันในเลือดสูง

3) ภาวะโรคกระดูกพรุน: จะรู้สึกว่าตนเองเตี้ยลง กระดูกหักบ่อย

4) ความผิดปกติทางการได้ยิน-สายตา: เช่น ตาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หูได้ยินไม่ดี

5) ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ: ปัสสาวะบ่อย ๆ ลำปัสสาวะเล็กลง ปัสสาวะเล็ดลาด ปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น อาจมาจากสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก

6) หย่อนสมรรถภาพทางเพศ: พบว่าเกิดจากสาเหตุด้านร่างกายหรือด้านจิตใจ หรือทั้งร่างกายและจิตใจร่วมกัน รู้ได้อย่างไรว่าฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง โดยการสอบถามอาการต่าง ๆ ตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดและการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมแต่ละบุคคล

การรักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง โดยการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน มีทั้งในรูปการรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง หรือฉีดยาเดือนละเข็ม หรือใช้ชนิดแปะผิวหนัง หรือทาผิวหนังก็ได้ การใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวแล้วนี้ ทำให้ชายสูงวัยหลายท่านร้องขอการรักษาโดยใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ซึ่งมียาทั้งในรูปแบบยารับประทาน และยาฉีด รวมทั้งชนิดแปะที่ผิวหนัง ถึงแม้จะมีราคาแพงก็ตามแต่ดูว่ามีชายสูงอายุร้องขอให้แพทย์ทำการรักษาอยู่บ่อยครั้ง

แพทย์ผู้ดูแลในเรื่องนี้จึงใคร่ขอเตือนว่า มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเพศชายเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ นั้นอยู่ และข้อห้ามที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนในชายสูงวัยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายสามารถกระตุ้นมะเร็งต่อมลูกหมากให้ลุกลามไปได้เร็วขึ้น อันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าจะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่าเข้าใจผิด ส่วนในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากจากต่อมลูกหมากที่โตมาก ๆ ถือเป็นข้อควรระวังเท่านั้น เพราะในบางรายอาจจะกระตุ้นให้คนไข้ปัสสาวะไม่ออกได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมแพทย์ที่ดูแลท่านทำการตรวจทางทวารหนักและในบางรายอาจจะตรวจเช็คระดับพีเอสเอ (Prostate Specific Antigen) ของท่านด้วยก่อนเริ่มให้การรักษา ระหว่างการรักษาแพทย์ก็จะทำการตรวจเช็คระดับฮอร์โมนเพศชาย ความเข้มข้นของเลือด รวมทั้งพีเอสเอ เป็นระยะ ๆ เพื่อความปลอดภัย

ดังนั้นท่านชายสูงวัยที่มีอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ควรจะได้รับการตรวจเช็คระดับฮอร์โมนเพศชาย รวมทั้งเช็คมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งสามารถทำการตรวจเช็คได้ในโรงพยาบาลทั่ว ๆ ไป ทั้งจากศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะและแพทย์ทั่วไปได้ ขอให้ชายสูงวัยทุกท่านมีสุขภาพที่ดี ทำประโยชน์กับสังคมของเราได้นานเท่านาน

ที่มา: บทความ น.พ. สุรพงศ์ อำพันวงษ์ โรงพยาบาลพยาไท

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เสริมวิตามิน-เกลือแร่เลี่ยงอัลไซเมอร์และโรคเรื้อรัง



โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคหนึ่งที่ ยังรักษาให้หายขาดไม่ได้ และยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริง การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าโรคนี้เกิดจากการลดลงของสารสื่อประสาทชื่ออะเซติลโคลีน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารนี้ช่วยให้มนุษย์มีความสามารถในการจำ การป้องกันจึงเป็นหนทางเดียวในการปกป้องความทรงจำอันมีค่าให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์


ในงานเสวนาทางการแพทย์ "ปฏิวัติโภชนาการ เพื่อชีวิตใหม่ อ่อนวัย ห่างไกลโรค" จัดโดยไวเอท คอนซูเมอร์ เฮลธ์แคร์ มีการเผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ว่า การได้รับวิตามิน บี 1 บี 6 บี 12 วิตามินซี และกรดโฟลิกร่วมกันในปริมาณที่เหมาะสม จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้มากกว่าร้อยละ 50


ผลการวิจัยดังกล่าวเปิดเผยโดย ศ.เจฟฟรี่ บี บลูมเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยา และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านสารต้านอนุมูลอิสระ ศูนย์วิจัยโภชนาการมนุษย์และการเปลี่ยนตามวัย มหาวิทยาลัยทัฟส์ สหรัฐอเมริกา (Tufts University) การได้รับวิตามินต่างๆ อย่างพอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์เท่า นั้น แต่ยังรวมถึงโรคเรื้อรังร้ายแรงอื่นๆ เช่น:


- การได้รับวิตามินบีรวมติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ร้อยละ 25

- ส่วนวิตามินที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามิน อี เบต้าแคโรทีน สังกะสี และทองแดงนั้น หากกินร่วมกันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาท ตาเสื่อม และต้อกระจกได้ร้อยละ 20-25

- การได้รับวิตามินรวมติดต่อกันเป็นเวลา 15 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้สูงถึงร้อยละ 80


ศ.น.พ.สุรัตน์ โคสุมินทร์ หัวหน้าหน่วยโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า คนไทยมีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของสำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย พบว่าคนไทยทุกเพศทุกวัยจำนวนมากได้รับวิตามินและเกลือแร่ต่ำกว่าที่ร่างกายต้องการตามมาตรฐานปริมาณสารอาหารที่แนะนำในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น


การเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินและเกลือแร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายนั้นมี 2 ข้อด้วยกัน คือ:

1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินและเกลือแร่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ

2. ผลิตภัณฑ์วิตามินเกลือแร่รวมนั้นต้องมีปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน

14 วิธีคงความหนุ่มสาว



ปัจจุบันศาสตร์แห่งการชะลอวัย (anti-aging) เป็นที่พูดถึงอย่างมากในอเมริกาและยุโรป นี่คือเคล็ดลับ 14 ข้อที่จะคงความเป็นหนุ่มสาว จาก แพทย์หญิงพัฒศรี พงษ์สถิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยกรุงเทพ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ


1. แคลอรี่เยอะ เสื่อมเร็ว

การรับประทานอาหารที่ให้แคลอรี่สูงจะทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญสารอาหารมาก ก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มมากขึ้น อาหารที่เรารับประทานไม่ว่าจะเป็น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต สุดท่ช้ายก็จะถูกย่อยสลายกลายเป็นน้ำตาล ถ้าร่างกายรับแคลอรี่หนักทุกมื้อ ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงๆต่ำๆ ร่างกายต้องหลั่งสารอินซูลินตลอดเวลาเพื่อนำน้ำตาลไปเก็บไว้ในเซลล์ คนที่มีไลฟ์สไตล์แบบนี้ย่อมเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้แก่เร็ว สมัยก่อนการกินอาหารเน้นแป้งและน้ำตาล รองลงมาคือ โปรตีน ผักผลไม้และไขมัน แต่ถ้าต้องการรับประทานอาหารให้ดีไม่ให้แก่เร็ว ต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะสิ่งที่ควรกินมากที่สุดคือ น้ำบริสุทธิ์ 1-2 ลิตรต่อวัน เน้นผักผลไม้ อาหารกลุ่มโปรตีนมีประโยชน์ ไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้า 3, 6 และ 9 ส่วนสิ่งที่ควรกินให้น้อยที่สุดให้น้อยที่สุดคือไขมันอิ่มตัวที่มีอยู่ในแป้งและน้ำตาล

2. กินหลากแหล่ง

เลือกผักออร์แกนิกหรือจากหลากแหล่งผลิต เพราะเราไม่รู้ว่าแหล่งปลูกมีสารปนเปื้อนหรือไม่ วิธีนี้ช่วยลดการสะสมสารบางอย่างในร่างกาย เพราะมีงานวิจัยบ่งชี้ว่า การลดการกินอาหารที่มีสารพิษไม่ให้ผลดีเท่ากับกินอาหารจากหลากแหล่งผลิต

3. ร้อนไปไม่ดี กรอบไปไม่เวิร์ค

หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ผ่านกระบวนการร้อนจัดหรือทอดจนกรุงกรอบ นอกจากจะสูญเสียคุณค่าสารอาหารแล้ว ยังเพิ่มสารก่อมะเร็งมากขึ้นด้วย สู้เปลี่ยนมากินอาหารออร์แกนิกหรือผ่านกรรมวิธีนึ่งหรือต้มจะดีกว่า

4. ลดคาเฟอีน

ปกติร่างกายหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อกระตุ้นร่างกายให้เผาผลาญนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้เพียงพอ สร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้หลั่งสารอะดีนาลีนอยู่เป็นประจำ อะดรีนาลินทำงานคล้ายฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้ร่างกายลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไปโดยปริยาย ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์เสื่อมเร็วกว่าปกติ ถ้าเกิดภาวะไทรอยด์ต่ำ ทำให้การเผาผลาญต่ำลง แม้เราจะรับประทานอาหารเท่าเดิม แต่อ้วนง่าย บางคนมีอากรมอเท้าเย็น เวียนศรีษะ ความจำเสื่อม ผิวและผมแห้ง ไขมันในเลือดสูงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ

5. ดื่มนมมากไปกระดูกพรุน

ในวัยผู้ใหญ่ไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเอเชียมีอุบัติการ Cow’s Milk Intolerance มากกว่าคนอเมริกาและยุโรป นอกจากนี้ผลการวิจัยล่าสุดในอเมริกาพบว่า คนที่ดื่มนมมากๆ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่า เหตุผลคือ กรดแอมิโนบางอย่างในนมทำให้เลือดเป็นกรด ส่งผลให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมและแมกนีเซียมจากกระดูกไปในปัสสาวะ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนในวัยผู้ใหญ่ ทางที่ดีเลือกทานแคลเซียมจากแหล่งอื่นๆ เช น ปลาเล็กปลาน้อย ธัญพืช หรือเต้าหู้จะดีกว่า

6. ดื่มน้ำจากขวดแก้ว

การดื่มน้ำบริสุทธิ์จากขวดแก้วดีกว่าดื่มน้ำจากขวดพลาสติก เพราะสารพิษในพลาสติกละลายปะปนในน้ำตลอดเวลา ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษ ก่อให้เกิดความเสื่อมอย่างไม่ต้องสงสัย

7. หน้าแก่เพราะฟิตเกิน

คุณเคยเห็นคนออกกกำลังกายหนักจนหน้าแก่ หรือบางคนฟิตจัด แต่จู่ๆเกิดหัวใจวายกะทันหันกลางสนามกีฬาหรือไม่ นั่นเป็นเพราะร่างกายเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้นทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระมากขึ้นกว่าเดิม เป็นเหตุของความเสื่อมของร่างกาย ดังนั้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่เหมาะสมจึงควรอยู่ที่ 30-45 นาทีต่อวัน จากนั้นยกเวทนิดหน่อย ทำ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าผลเสีย

8. ดื่มเหล้ามาก จากชายกลายเป็นหญิง

การดื่มเหล้าทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย แถมเหล้าที่ดื่มเข้าไปกลายเป็นน้ำตาลสะสมในรูปไขมัน ถ้าเทียบการได้รับแคลอรี่จากโปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ แต่เหล้าปริมาณเท่ากันให้พลังงานถึง 7 กิโลแคลอรี่ แถมยังทำให้ผู้ชายที่ดื่มจัดรูปร่างเหมือนถงเบียร์ หัวล้าน มีเต้านมเหมือนผู้หญิง นั่นเป็นเพราะเหล้ามีผลต่อตับ ทำให้มีการเปลี่ยนฮอร์โมนจากชายกลายเป็นหญิงมากขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติของฮอร์โมนเพศหญิงใช้ในการเก็บไขมัน คนที่ดื่มหนักจะลงพุงและแก่เร็ว นอกจากนี้ยังทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในผู้หญิงที่ดื่มหนักมาก มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่า เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเช่นเดียวกัน

9. หยุดสูบเสียแต่วันนี้

บุหรี่ 1 สูบกระตุ้นการสร้างสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น 1014 ล้านโมเลกุล ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคถุงลมโป่งพองและโรคมะเร็ง

10. หลีกเลี่ยงโลหะหนักและสารปรอท

ในอเมริกาและยุโรปสั่งห้ามใช้อะมัลกัม (Amalgum : ทำมาจากปรอทซึ่งเป็นโลหะหนัก) ในการอุดฟันคนไข้ เพราะพบว่ามีการระเหยปล่อยสารปรอทเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าคนเป็นมะเร็งเต้านมและอัลไซเมอร์มีผลส่วนหนึ่งมาจากปรอทและโลหะหนัก ปัจจุบันคนเยอรมันหันมาใช้ “เซอร์โคเนียม” (เพชรรัสเซีย) ในการอุดฟัน รวมถึงการผลิตข้อเทียม กระดูก และรากฟันเทียมแทน เพราะไม่ทำปฏิกิริยาต่อร่างกาย

11. วางโทรศัพท์มือถือไกลตัว

มีงานวิจัยว่าการใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งใช้คลื่นความถี่สูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ถ้าเป็นไปได้ ควรวางโทรศัพท์ไว้ห่างจากร่างกายจะดีกว่า

12. เข้านอนตั้งแต่สี่ทุ่ม

ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตีสองเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งส่งผลให้หลับลึก ทำให้ความจำดี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และทำให้การหลั่งฮอร์โมนอื่นๆในร่างกายสมดุล ขณะเดียวกันช่วงที่ร่างกายหลับลึกส่งผลให้โกร็ธฮอร์โมนหลั่งออกมาเพื่อเสริมสร้างโปรตีนในร่างกาย ได้แก่ คอลลาเจนใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระดูกให้แข็งแรง ช่วยลดไขมันที่สะสมในร่างกาย ถ้าไม่อยากแก่ อย่านอนดึกจนเกินไป

13. กินวิตามิน

วิตามินบางตัวออกฤทธิ์เป็นสารอนุมูลอิสระ เช่น กลุ่มวิตามินเอ อี ซี ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายต้องการตลอดเวลาเพราะสร้างเองไม่ได้ และต้องทำงานเป็นระบบ แต่ละตัวมีคุณสมบัติต่างกัน เช่น วิตามินซีละลายในน้ำ ช่วยปกป้องดีเอ็นเอ ส่วนวิตามินเอ อี โคเอนไซม์คิว 10 ละลายในไขมัน ช่วยปกป้องผนังเซลล์ให้แข็งแรง ถ้ามั่นใจว่าได้รับสารเหล่านี้เพียงพอจากการกินอาหารจะไม่กินวิตามินเสริมก็ได้ แต่ปัญหาก็คือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า อาหารที่กินเข้าไปให้วิตามินเหล่านั้นเพียงพอ เช่น ร่างกายต้องการวิตามินซีวันละ 1,000 มิลลิกรัม เท่ากับส้ม 14 ลูก วิตามินอี 500 IU เท่ากับกินน้ำมันพีนัท 12.5 ช้อนโต๊ะ ซึ่งในชีวิตประจำวันเราไม่มีโอกาสได้รับอย่างครบถ้วน จึงต้องใช้วิตามินเสริมทดแทนสารอาหารที่ร่างกายขาดไป เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราขาด ก็ด้วยการตรวจปริมาณสารเหล่านี้ในเลือดว่าเพียงพอหรือไม่ มีความจำเป็นต้องได้รับในปริมาณเท่าไหร่ต่อวันจึงจะเหมาะสมที่สุด

14. เสริมฮอร์โมน

ปกติร่างกายต้องใช้ฮอร์โมนในการทำงาน แต่ผู้หญิงผู้ชายถูกกำหนดไว้แล้วโดยเฉลี่ยเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่ภาวะผลิตฮอร์โมนลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด ความจำแย่ลง การเผาผลาญลดลง ร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น ผิวหนังเหี่ยวย่น แห้ง ผมร่วง ตามหลักการของเวชศาสตร์ชะลอวัย หรือ Anti-Aging Medicine นั้น ถ้าไม่มีข้อห้าม สามารถได้รับฮอร์โมนทดแทนเพื่อรักษาสมดุลเหล่านั้นกลับคืนมา แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์


ที่มา : ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยกรุงเทพ

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สีของอุจจาระบ่งบอกถึงสุขภาพคุณได้



สวัสดีค่ะ วันนี้ GNC Health Advisor มีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของระบบทางเดินอาหารมาฝากตามคำขอที่มาจาก email นะคะ


สีของอุจจาระขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณทานเข้าไปและ ปริมาณของน้ำดี (bile) ในอุจจาระ น้ำดีคือของเหลวสีเขียวๆจากถุงน้ำดีที่มีหน้าที่ช่วยย่อยไขมัน ซึ่งจะถูกเอนไซม์ต่างๆทำปฏิกิริยาด้วย เลยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลระหว่างที่ไหลลงมาตามระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น อุจจาระที่ปกติมักจะมีสีอยู่ระหว่างเขียว-เหลือง-น้ำตาล


หากอุจจาระเป็นสีเขียวเข้ม อาจจะหมายความว่า

- อาหารได้ไหลผ่านระบบทางเดินอาหารเร็วเกินไป (เช่นเวลาท้องร่วง) จนน้ำดียังไม่ได้มีปฏิกิริยากับเอนไซม์และ ยังไม่ได้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นน้ำตาล หรือ

- คุณได้ทานผักสีเขียวในปริมาณมาก หรือทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก


หากอุจจาระเป็นสีขาว หรือ สีอ่อนมากๆ อาจจะหมายความว่า

- อุจจาระไม่มีน้ำดี ซึ่งอาจจะหมายความว่ารูทางออกของถุงน้ำดีมีอะไรไปอุดไว้

- คุณอาจจะทานยาบางตัวที่มี bismuth subslicylate มากเกินไป ซึ่งยากลุ่มนี้จะพบได้มากในยาแก้ท้องร่วง


หากอุจจาระเป็นสีเหลือง มีน้ำมันและ มีกลิ่นเหม็นมาก อาจจะหมายความว่า

- อุจจาระมีไขมันมากเกินไป ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับปัญหาในระบบดูดซึมสารอาหารและ ควรจะพบแพทย์


หากอุจจาระเป็นสีดำ อาจจะหมายความว่า
- มีเลือดไหลในอวัยวะทางเดินอาหรช่วงบน เช่นกระเพาะ หรือ

- ตุณทานอาหารเสริมธาติเหล็ก หรือ ทาน black licorice เข้าไป


หากอุจจาระเป็นสีแดงสด อาจจะหมายความว่า

- มีเลือดไหลในอวัยวะทางเดินอาหรช่วงล่าง เช่นลำไส้ใหญ่ หรือ

- คุณได้ทานอาหารที่มีสีแดงเช่น แครนเบอรี่ บีทส์ น้ำมะเขือเทศ หรือเยลลี่สีแดง

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

หญ้าหวาน...หวานได้แบบไร้แคลอรี่ แต่จะปลอดภัยจริงหรือเปล่า?



ข่าวล่าสุดจากสหรัฐอเมริกาค่ะ บริษัทคาร์กิล (Cargill) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการเกษตร กำลังจะออกผลิตภัณฑ์ "ทรูเวีย" ในตลาดสหรัฐเร็วๆ นี้ โดย "ทรูเวีย" เป็นน้ำตาลธรรมชาติ ผลิตจากสตีเวีย (stevia) หรือหญ้าหวาน เป็นไม้ท้องถิ่นในปารากวัย ไม่มีแคลอรี น้ำตาลจากหญ้าหวานนี้จะวางขายในราคา 130 บาท ต่อน้ำตาล 40 ซอง


ในต้นปีหน้าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อย่างซีเรียล โยเกิร์ต ขนมที่ขายเป็นแท่งๆ จะนำน้ำตาลอย่างหญ้าหวานมาใช้ ตามกฎหมายแล้ว สตีเวียได้รับการรับรองว่าเป็นอาหารเสริมในญี่ปุ่น บราซิล และจีน ยกเว้นในสหรัฐและสหภาพยุโรป โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐจำแนก "สตีเวีย" ว่า เป็นอาหารเสริมที่ไม่ปลอดภัย โดยจากการศึกษาของหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล พบว่า หนูที่กินสตีเวียจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในตับ และอาจเกิดผลกระทบต่อการมีบุตรในชาย


สำหรับบริษัทคาร์กิล แถลงว่า ได้ปรึกษากับองค์การอาหารและยาของสหรัฐมาเป็นเวลากว่า 3 ปี และใช้ส่วนประกอบในใบของสตีเวียเท่านั้น ไม่ได้ใช้สตีเวียทั้งใบ

วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ข้อควรรู้เกี่ยวกับครีมกันแดด



ตอนนี้ทุกๆคนก็คงพอทราบถึงความสำคัญของการทาครีมกันแดด เพราะมีโฆษณาสินค้ากลุ่มนี้ออกมามากมายเหลือเกิน แต่หลายๆคนก็คงยังจะงงอยู่ว่า ตกลงแสง UVA กับ UVB มันต่างกันอย่างไร และ ทำไมเราถึงต้องระวังมันเป็นพิเศษ? แล้วพวกสารกันแดดทั้งหลายทั้งปวงที่เห็นตามโฆษณาน่ะ มันต่างกันอย่างไร? ใน GNC Health Update วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ


ก่อนอื่นเลย ขออธิบายก่อนว่า ที่เราต้องทาครีมกันแดด (ทั้งตัวนะคะ ไม่ใช่ดูแลใบหน้าอย่างเดียว) นั้น เป็นเพราะว่ารังสี UVA จะทำให้ผิวเราเกิดริ้วรอย และเป็นต้นเหตุหลักของการดูแก่ก่อนวัย ส่วนรังสี UVB เป็นตัวการที่ทำให้ผิวเราไหม้ มิหนำซ้ำ รังสีทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังที่สามารถคร่าชีวิตคุณได้ รู้อย่างนี้แล้ว คงพอเข้าใจถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการทาครีมกันแดดให้ทั่วๆตัวทุกครั้งก่อนที่จะออกไปโดนแดดนะคะ


แต่อย่าหลงคิดนะคะ ว่าทาครีมกันแดดอะไรก็ได้ แล้วจะปลอดภัยจากรังสีUVA และUVB เพราะสารกันแดดหลายตัวกลับสลายตัวเมื่อโดนแดด! นอกจากนั้น สารกันแดดบางตัวก็สามารถกันได้เฉพาะรังสี UVB เท่านั้น


Zinc Oxide และ Titanium Dioxide เป็นสารกันแดดที่นักเคมีต่างเห็นพ้องว่าเป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการกันแดดได้ดีกว่าสารอื่นๆในท้องตลาด เพราะสาร 2 ตัวนี้สามารถป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB แถมยังไม่สลายตัว หรือ สูญเสียประสิทธิภาพในการกันแดดได้ง่ายๆด้วย วิธีที่สารสองตัวนี้กันแดด คือการสะท้อนรังสีนี้ออกไปจากผิวหนัง หรือที่เรียกว่าเป็น Physical Blockers


ส่วนสารกันแดดที่เป็น Chemical Blockers จะดูดซึมรังสีและไม่ให้มันทะลุเข้าไปใต้ผิวหนัง ที่ใช้มากในท้องตลาดคือ:

- Oxybenzone (กันรังสี UVB ได้มากแต่ UVAได้แค่บางส่วน),

- Avobenzone (กันรังสี UVA ได้อย่างเดียว),

- Mexoryl SX (กันรังสี UV ได้ทั้ง 2 แบบ),

- Helioplex (เป็นสารป้องกันการเสื่อมสภาพของสารกันแดดและ มีใช้ในสูตรที่ผสม Avobenzone และ Oxybenzone)


โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังได้ชี้แจงว่า Physical Blockers นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า Chemical Blockers อย่างไรก็ตาม Physical Blockers ก็มีข้อด้อยตรงที่จะทำให้ใบหน้าดูขาววอก จึงมีเฉพาะสาวหมวยหนุ่มตี๋/ยุ่น/ เกาหลี หรือ ฝรั่งที่จะพอใช้ครีมกันแดดประเภทนี้ได้


ในจำนวน Chemical Blockers นั้น Mexoryl และ Helioplex จะมีความเสถียรที่ดีกว่าตัวอื่นๆ อย่างไรก็ตาม Environmental Working Group (EWG) ของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาแสดงถึงความกังวลว่า Chemical Blockers อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับฮอร์โมนของร่างกายได้


ถึงแม้ในขณะนี้ยังไม่มีการวิจัยที่ชี้ชัดว่าการใช้ Chemical Blockers มีอันตรายต่อสุขภาพ แต่เพื่อความสบายใจ เราแนะนำให้เลือกซื้อครีมกันแดดสูตรที่มี Zinc Oxide หรือ Titanium Dioxide อย่างน้อย 7 % โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็กและ ทารก โดยครีมกันแดดนั้น ควรจะมีค่า SPF อย่างน้อย 30 สำหรับวิธีการใช้ที่ถูกต้องนั้น คือต้องทาครีมก่อนออกแดดซัก 20-30 นาทีและ ควรจะทาซ้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมงค่ะ


ส่วนบางคนที่อาจจะถามว่า แล้วถ้าเราใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาวล่ะ จะกันแดดได้หรือไม่? คำตอบก็คือ ได้ต่อเมื่อผ้านั้นถูกทอมาอย่างแน่นมากๆ ซึ่งวิธีการทดสอบว่าแน่นพอหรือไม่นั้น สามารถทำได้ง่ายๆค่ะ เพียงคุณนำไฟฉายส่องไปที่ผ้า แล้วดูว่ามีแสงเล็ดลอดไปอีกฝั่งของผ้ามั้ย หากไม่มีก็แสดงว่าผ้าตัวนี้สามารถกันแดดได้ค่ะ


หวังว่าข้อมูลที่เราสรรหามาให้คุณผู้อ่าน จะมีประโยชน์และ ช่วยให้คุณสามารถเลือกซื้อครีมกันแดดที่ดีที่สุดสำหรับคุณและ ครอบครัวนะคะ